ทัพ 29 บริษัทชั้นนำไทย-อิตาลี รวมพลังขานรับการลงทุนสองประเทศ บูสต์มูลค่าการค้า 1.9 แสนล้าน เร่งเครื่อง FTA เต็มสูบ หนุนไทยเป็นฮับอุตสาหกรรมเป้าหมาย
กรุงเทพฯ , 4 ก.ค. 2567 - ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและอิตาลีเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยมูลค่าการค้าร่วมกันในปี 2566 ทั้งสิ้น 5 ,062.15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเกือบ 1.9 แสนล้านบาท หอการค้าไทย, สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ สถานทูตอิตาลีประจำประเทศไทย จึงเดินหน้าจัด ประชุมอิตาเลียน -ไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม (Italian-Thai Business Forum - ITBF) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 ณ Palazzo Vecchio เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนที่ยั่งยืนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพิ่มขีดความสามารถทางธุรกิจ รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ และประสบการณ์ร่วมกัน โดยมี นักธุรกิจชั้นนำจากประเทศอิตาลีและประเทศไทยเข้าร่วมทั้งหมด 29 บริษัท แบ่งเป็นบริษัทจากอิตาลี 13 บริษัท และบริษัทจากไทย 16 บริษัท ครอบคลุมอุตสาหกรรมสำคัญตั้งแต่ อุตสาหกรรมยานยนต์ , การธนาคาร, โครงสร้างพื้นฐานและการขนส่ง, อาหาร, ประกันภัย, เฟอร์นิเจอร์, ไลฟ์สไตล์, น้ำมันและก๊าซ, พลังงานหมุนเวียน, เครื่องจักร, น้ำตาล, ค้าปลีก, ยาง, ปิโตรเคมี และการท่องเที่ยว เป็นต้น
การประชุมอิตาเลียน-ไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม ครั้งที่ 9 (ITBF) เป็นส่วนหนึ่งในการสะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีมาอย่างยาวนานกว่า 156 ปี โดยเฉพาะในฐานะคู่ค้าคนสำคัญ โดยก่อนหน้านี้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีได้ เยือนสาธารณรัฐอิตาลีอย่างเป็นทางการ ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยได้หารือกับนางจอร์เจีย เมโลนี นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐอิตาลีเพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนร่วมกัน โดย นาง จอร์เจีย เมโลนี มีกำหนดเดินทางเยือนประเทศไทยในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2568 อีกด้วย สำหรับการประชุม ITBF ในปีนี้มีได้รับเกียรติจาก นายเปาโล ดิโอนิซี (H.E. Mr. Paolo Dionisi) เอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย, นายพุทธพร อิ้วตกส้าน เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำสาธารณรัฐอิตาลี เข้าร่วมประชุมด้วย
นางสาวบุษบา จิราธิวัฒน์ ประธานร่วมอิตาเลียน -ไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม และที่ปรึกษากลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า “การประชุม Italian-Thai Business Forumจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 9 เพื่อสานสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างไทยและอิตาลี รวมทั้งเป็นเวทีที่รวบรวมเหล่าซีอีโอและผู้นำของภาคเอกชนทั้งไทยและอิตาลีได้แสดงศักยภาพและความโดดเด่นของแต่ละบริษัท เพื่อเสริมสร้างโอกาสทางธุรกิจร่วมกัน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายหลากหลายแขนง ช่วยอำนวยประโยชน์ด้านการค้าการลงทุนระหว่างสองประเทศให้เกิดการขยายความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ โดยอิตาลีถือเป็นประเทศ คู่ค้าอันดับที่ 24 ของไทยและอันดับที่ 3 จากอียู”
ด้านประธานร่วมฝั่งอิตาลี นายคาร์โล เปเซ็นติ ( Mr. Carlo Pesenti) ประธานร่วมอิตาเลียน -ไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อิตาโมบิลิอาเร กล่าวว่า “รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับสมาชิกทุกท่าน บริษัทอิตาโมบิลิอาเร ให้ความสำคัญกับการลงทุนในบริษัทที่มีศักยภาพการในการเติบโตสูง รวมถึงมีแนวคิดด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการบูรณาการ ESG ในทุกขั้นตอนของการลงทุน ดังนั้นการมีความเข้าใจอย่างชัดเจนเกี่ยวกับข้อบังคับของยุโรปด้านความยั่งยืน จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเราซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนในการเติบโตร่วมกันต่อไป”
นายเกษมสิทธิ์ ปฐมศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด กล่าวถึง GDP ของไทยในไตรมาส 1 ขยายตัว 1.5% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตของภาคท่องเที่ยว นอกจากนี้ภาครัฐยังชูวิสัยทัศน์ Ignite Thailand เพื่อผลักดัน 8 อุตสาหกรรมเป้าหมายให้ไทยเป็นฮับของภูมิภาค เร่งส่งเสริมการเจรจาเขตการค้าเสรี ( Free Trade Area - FTA) ไทย-อียู ให้แล้วเสร็จภายในปี 68 รวมทั้งส่งเสริมการลงทุนในไทยผ่านหน่วยงานต่างๆ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI (Board of Investment) ออกมาตรการการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% นาน 5 ปี, การยกเว้นอากรนำเข้าเครื่องจักร เป็นต้น
ดร. ฟิลิปโป คอร์ซินี ศาสตราจารย์ด้านการจัดการความยั่งยืนจากสถาบัน Scuola Superiore Sant'Anna ให้ความเห็นว่าภาคธุรกิจมีความสำคัญในการขับเคลื่อนความยั่งยืน โดยนโยบายสำคัญของสหภาพยุโรป ได้แก่ European Green Deal ที่ตั้งเป้าบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 และลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิอย่างน้อย 55% ภายในปี 2030 นอกจากนี้ยังตระหนักถึงความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งมุ่งเน้นการออกแบบผลิตภัณฑ์และการผลิตที่ยั่งยืน อาทิ สิ่งทอ, บรรจุภัณฑ์, อาหาร เป็นต้น
นายธวัชชัย เศรษฐจินดา รองประธานหอการค้าไทย ให้ข้อมูลว่าสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้เน้นย้ำถึงการสานต่อ MOU ระหว่างสภาหอการค้าไทยและสภาหอการค้าอิตาลี (Unioncamere: the Italian Union of Chambers of Commerce, Industry, Crafts and Agriculture) เพื่อผลักดันธุรกิจระดับ SME โดยเฉพาะด้านอาหาร, แฟชั่น (ผ้าไหม), ไลฟ์สไตล์ (เซรามิกและเฟอร์นิเจอร์) สู่ตลาดสากล
สำหรับการประชุมในปีนี้ นักธุรกิจตัวแทนทั้งจากประเทศไทยและอิตาลีได้นำเสนอ ข้อมูลด้านนโยบายและแผนงานด้านธุรกิจของบริษัทให้กับสมาชิก เพื่อต่อยอดโอกาสการค้าการลงทุนร่วมกัน อาทิ
- กลุ่มเซ็นทรัล : ห้างรีนาเชนเต สาขาฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ติดอันท็อปเทน ห้างสรรพสินค้าไฮเอนด์ที่ดีที่สุดในโลกในปี 2565 ปัจจุบันรีนาเชนเตมีทั้งหมด 9 สาขา ใน 8 เมือง อาทิ โรม มิลาน ฟลอเรนซ์ ตูริน เป็นต้น และยังครองอันดับ 1 ด้าน Online Store และ On Demand Chat & Shop โดยมีผู้ใช้บริการมากกว่า 20 ล้านคน มีแบรนด์สินค้าภายในห้างกว่า 3,600 แบรนด์ นอกจากนี้ยังส่งเสริมสินค้าภูมิปัญญาไทยด้วยการนำกระเป๋า เครื่องแต่งกายที่ผลิตจากผ้าขาวม้าไทยมาจำหน่ายในห้างรีนาเชนเตอีกด้วย ทั้งนี้ในปลายปี 67 เตรียมเผยโฉมใหม่ห้างเซ็นทรัล สาขาชิ ดลม ประเทศไทย อย่างเต็มรูปแบบ ในคอนเซ็ปต์ The Store of Bangkok ด้วยงบลงทุนกว่า 4 พันล้านบาท
รวมทั้งกลุ่มเซ็นทรัลยังมุ่งส่งเสริมงานศิลปะด้วยการนำผลงานของศิลปินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่กลุ่มเซ็นทรัลให้การสนับสนุน จัดแสดงในงาน “เวนิส เบียนนาเล่” ครั้งที่ 60 เทศกาลศิลปะที่ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในโลกอีกด้วย
- ธนาคารกรุงเทพ : เป็นธนาคารที่ใหญ่อันดับ 6 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเชียงใต้ เป็นธนาคารไทยแห่งแรกที่เปิดสาขาในต่างประเทศรวม 14 ประเทศทั่วโลก โดยใน ปี 66-67 มีแผนพัฒนาการบริการให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้น อาทิ New Regional iCash, Domestic Blockchain Payment เป็นต้น
- อุตสาหกรรมดีสวัสดิ์ : ผลิตและส่งออกเฟอร์นิเจอร์ที่เน้นดีไซน์ด้านความยั่งยืน (Sustainable Design) และดำเนินธุรกิจโรงงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเมื่อเมษายนได้เข้าร่วมงานแสดงสินค้าเฟอร์นิเจอร์ระดับโลก Salone del Mobile หรือ Milan Design Week ณ เมืองมิลาน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการสร้างสรรค์ผลงานในอนาคต
- โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ บริษัทในเครือของกลุ่ม ปตท.ประกอบธุรกิจหลักในการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ไอน้ำ เน้นกลยุทธ์ปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดการปล่อยมลพิษ มุ่งพัฒนาโครงการพลังงานสะอาด เช่น พลังงานหมุนเวียน , เทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน (ESS - Energy Storage System)เป็นต้น
- กราฟีน ครีเอชั่นส์ กราฟีน เป็นวัสดุคาร์บอนที่ใช้กันแพร่หลายในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ปิโตรเคมี โพลิเมอร์ อิเล็กทรกนิกส์ และเซมิคอนดักเตอร์ โดยตลาดกราฟีนทั่วโลกในปี 2565 มีมูลค่า 92 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะมีมูลค่าถึง 3,548.96 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาย ในปี 2573 โดยบริษัทฯ มุ่งเน้นใช้เทคโนโลยีเช่น AI ในการขับเคลื่อนการพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์และมุ่งสู่ความยั่งยืนในอนาคต
- เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ : ผู้ให้บริการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนรายใหญ่ ที่สุด ในภูมิภาคเอเชีย ให้บริการขนส่งที่หลากหลาย เช่น ทางรางผ่านรถไฟความเร็วสูง, ทางอากาศที่สนามบินอู่ตะเภาและสุวรรณภูมิ,ทางรถผ่านมอเตอร์เวย์, ทางทะเลผ่านท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือมาบตาพุด โดยมีบริการทั้งหมด 9 ประเทศในภูมิภาคอาเซียนและจีน อีกทั้ง ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีแห่งอนาคตมาใช้ในคลังสินค้า อาทิ ASRS , AI, หุ่นยนต์ เป็นต้น
- ไทยซัมมิท โอโตพาร์ท อินดัสตรี : ผู้นำด้านการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในเอเชีย โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า มีฐานการผลิตทั้งในไทยและต่างประเทศครอบคลุมเขตอุตสาหกรรมหลัก เช่น แหลมฉบัง, ระยอง, นครนายก และสมุทรปราการ รวมถึงจีน อินเดีย ญี่ปุ่น อเมริกา และเวียดนาม และล่าสุดบริษัทคู่ค้าอย่างดูคาติ (Ducati) ได้ลงทุนตั้งฐานการผลิตที่จังหวัดระยองเมื่อเดือนเมษายน 2567
- วัฒนไพศาล เอ็นยิเนียริ่ง: ประกอบธุรกิจผลิตโครงสร้างเหล็กขนาดใหญ่ อาทิ โรงไฟฟ้า , โรงกลั่นน้ำมัน , โรงปิโตรเคมี , ถังความดัน , และการติดตั้งเครื่องจักร เพื่อส่งออกตะวันออกกลางและสหรัฐอเมริกา ตัวอย่างความสำเร็จของบริษัท เช่น การผลิตโรงงานน้ำตาลแห่งแรกของไทย (Thai Sugar Mill) โดยปัจจุบันได้ทำงานร่วมกับบริษัทด้านน้ำมันและก๊าซที่มีชื่อเสียง เช่น Exxon, Ineos, Thai Oil เป็นต้น
เกือบ 1 ทศวรรษของความสำเร็จในการประชุม “อิตาเลียน-ไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม” ได้แสดงถึงเจตจำนงอันแรงกล้าของทั้งสองฝ่ายในการขยายศักยภาพความร่วมมือด้านการค้า-การลงทุนร่วมกัน โดยจากข้อมูลของ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผยว่าประเทศ ไทยและอิตาลีมีมูลค่าการค้าในปี 66 รวม 5,062.15 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.32% แบ่งเป็น การส่งออกมูลค่า 2,098.42 ล้านเหรียญสหรัฐ และการนำเข้า มูลค่า 2,963.73 ล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับการประชุมอิตาเลียน-ไทย บิสซิเนส ฟอรั่มในครั้งนี้ คณะกรรมการฝ่ายอิตาลีที่ได้เข้าร่วม 13 บริษัท ได้แก่ อิตาโมบิลิอาเร (Italmobiliare), อินเตซา ซานเปาโล (Intesa Sanpaolo), ซีไอเอส ซิซิลี (CIS Sicily & Unicitrus), ซีเอ็นเอช อินดัสเทรียล (CNH Industrial), เฟอเรโร่ (Ferrero), คาวันญ่า กรุ๊ป (Cavagna Group), อินัลก้า ฟู้ด แอนด์ เบเวอเรจ - คีโมนีนี กรุ๊ป ( Inalca Food & Beverage - Cremonini Group), ไอวีโก้ ( IVECO), ไซเปม ( SAIPEM),วิตตอเรีย (Vittoria), ดาเนียลี (Danieli), พีเรลรี (Pirelli), ลีโอนาโด (Leonardo)
และผู้เข้าร่วมจากประเทศไทย รวม 16 บริษัท ได้แก่ กลุ่มเซ็นทรัล ( Central Group), กลุ่มมิตรผล (Mitr Phol Group), ไทยวิวัฒน์ประกันภัย (Thaivivat Insurance), วัฒนไพศาล เอ็นยิเนียริ่ง ( Vatana Phaisal Engineering Co.,Ltd.), ธนาคารกรุงเทพ ( Bangkok Bank PCL.) , หลักทรัพย์จัดการกองทุน เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ ( Merchant Partners Asset Management),เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ (SCG JWD), พิณสยาม (Pin Siam Co.,Ltd.), ไทยฮั้วยางพารา (Thai Hua Rubber PCL.), บริษัท แอ็ลไลด์ เม็ททัลส์ (ไทยแลนด์) จำกัด ( Allied Metals (Thailand) Co., Ltd), ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ( Thai Union Group PCL.), บุญรอดบริวเวอรี่ (Boon Rawd Brewery Co., Ltd.), กราฟีน ครีเอชั่นส์ ( Graphene Creations Co.,Ltd.) , ไทยซัมมิท โอโตพาร์ท อินดัสตรี ( Thai Summit Autoparts Industry), โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (Global Power Synergy PCL.), อุตสาหกรรม ดีสวัสดิ์ ( Deesawat Industries Co.,Ltd.) นอกจากนี้ยังมีผู้แทนภาครัฐ ได้แก่ เปาโล ดีโอนีซี ( H.E. Mr. Paolo Dionisi) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิตาลีประจำประเทศไทย, เฟเดริโก้ คาร์ดินี่ ( Mr. Federico Cardini)