กลุ่มเซ็นทรัล ทุ่มงบ 3 พันล้าน ยกระดับ “นครพนม - หนองคาย” สร้างศักยภาพเมืองรองเทียบชั้นเมืองหลัก ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่ประตูภูมิภาคอินโดจีน
กรุงเทพฯ 10 ต.ค.66 ; ด้วยความมุ่งมั่นในการสร้างความเจริญให้กับประเทศไทยและสร้างคุณค่าร่วมกันกับทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและยกระดับสังคมให้เติบโตไปด้วยกันแบบองค์รวมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งธุรกิจ สังคม ชุมชน ลูกค้า และคู่ค้า สะท้อนถึงพันธกิจและวิสัยทัศน์อันแรงกล้าที่ถูกบ่มเพาะจากผู้ก่อตั้งโดย คุณเตียง จิราธิวัฒน์ คุณสัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ และ คุณวันชัย จิราธิวัฒน์ สืบทอดเป็นดีเอ็นเอในการบริหารงานตั้งแต่ แรกเริ่มในการดำเนินธุรกิจของกลุ่มเซ็นทรัลกระทั่งปัจจุบันที่ย่างก้าวสู่ปีที่ 76
ทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า “หนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของกลุ่มเซ็นทรัลในฐานะผู้นำค้าปลีกและบริการ รวมทั้งอสังหาริมทรัพย์ คือ การขยายธุรกิจควบคู่ไปกับการยกระดับเมือง สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับชุมชนและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของคนในพื้นที่ ภายใต้แนวคิด “Growth for the Country , Great for Local Communities” โดยเน้นภูมิภาคที่มีศักยภาพภายในประเทศ รวมไปถึงการสร้างสรรค์ให้เป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีอัตลักษณ์ ควบคู่กับการดูแลคุณภาพชีวิตของผู้คน สังคม สิ่งแวดล้อม พร้อมเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ พัฒนาเป็นไลฟ์สไตล์ฮับประจำถิ่น จุดประกายเทรนด์ท่องเที่ยวเมืองรองให้คึกคักสู่จุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจตลอดห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจตั้งแต่ระดับฐานรากถึงระดับบน”
กลุ่มเซ็นทรัล ใช้แนวคิด “Growth for the Country , Great for Local Communities” ผ่านการดำเนินงาน 3 มิติ คือ “เซ็นทรัล สร้าง” , “เซ็นทรัล พัฒนา” และ “เซ็นทรัล ทำ”
1. รุกบุกเบิกเมืองศักยภาพ ด้วย เซ็นทรัล..สร้าง
- สร้างเมืองให้เข้มแข็ง ด้วยการมุ่งมั่นเดินหน้าขยายโครงการต่างๆ ภายใต้การลงทุนที่มุ่งเน้นผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมอย่างรอบด้าน (Impact Investment) โดยกระจายการเติบโตไปสู่พื้นที่ที่มีศักยภาพ หรือ “เมืองรอง” ด้วยการชูบทบาทการเป็น Central of Life ศูนย์กลางของชีวิต เร่งเครื่องสร้างและพัฒนาย่านที่มีคุณภาพสู่แลนด์มาร์กแห่งใหม่อันโดดเด่น เพื่อเป็นแม่เหล็กภาคท่องเที่ยวและบริการใหม่ ถือเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจหลักของประเทศ โดยมีแผนการลงทุน 5 ปี (2566-2570) ของบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) รวมกว่า 135,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 30,000 ล้านบาท ครอบคลุม 30 จังหวัด
- สร้างความเจริญให้ชุมชน ส่งเสริมและต่อยอดให้เป็นพื้นที่ทำเลทองของเมือง ก่อให้เกิดความเจริญในทุกพื้นที่ อาทิ โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย โรงเรียนนานาชาติ และเวลเนส เซ็นเตอร์ เป็นต้น
- สร้างการลงทุนให้หลากหลาย ด้วยการขยายการลงทุน เป็น Mixed-Use Development ครอบคลุมศูนย์การค้า ค้าปลีก โรงแรม อาคารสำนักงาน ที่อยู่อาศัย เน้นการออกแบบก่อสร้างให้คงไว้ซึ่งมนต์เสน่ห์และสอดคล้องกับเอกลักษณ์ในพื้นที่ชุมชน โดยจะมีการขยายธุรกิจต่างๆ ในช่วงปี 66-67 อาทิ
-
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : ศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ จังหวัดนครพนม ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง ด้วยงบลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท เตรียมเปิดตัวในปี 2568 โดยจังหวัดนครพนมมีความสำคัญทางด้านเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษและเมืองหน้าด่านการค้าและการท่องเที่ยวสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อีกทั้งตั้งอยู่บริเวณชายแดนติดเมืองท่าแขก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) โดยมีเส้นทางคมนาคมอันโดดเด่น คือ สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 รองรับการเดินทางและการขนส่งด้านการค้าและการท่องเที่ยว เชื่อมโยงระหว่างประเทศไทย ประเทศลาว ประเทศเวียดนาม และภาคใต้ของประเทศจีน โดยช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจเวียดนามและจีนตอนใต้ให้มีมูลค่าการค้าผ่านแดนสูงสุดในประเทศไทย รวมทั้งการก่อสร้างรถไฟรางคู่สายใหม่ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ที่จะสามารถเชื่อมโยงเครือข่ายการบริหารจัดการขนส่งมวลชน สินค้าและบริการได้เป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้การพัฒนาโครงการใหม่ของกลุ่มเซ็นทรัล จึงมีส่วนสำคัญในการเสริมศักยภาพให้จังหวัดนครพนมให้เป็นเมืองสุดฮิป ในแดนอีสาน ถูกใจนักท่องเที่ยวสไตล์ฮิปสเตอร์ไม่ซ้ำใคร โดยมีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และการขนส่งสินค้า ที่เชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านและประเทศจีนตอนใต้ ส่งเสริมให้คนในชุมชนเกิดความเข้มแข็ง ผลักดันแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและธรรมชาติให้เป็นที่รู้จักยิ่งขึ้นของนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ โดยจังหวัดนครพนมมีนักท่องเที่ยวประมาณ 1.5 ล้านคนต่อปี สร้างรายได้ภาคท่องเที่ยวกว่า 2,200 ล้านบาท , ศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ จังหวัดหนองคาย งบลงทุน 1,000 ล้านบาท เตรียมเปิดตัวในปี 2567 โดยจังหวัดหนองคายเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เป็นเมืองชายแดนติดกับนครหลวงเวียงจันทน์และแขวงบอลิคำไซ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีจุดผ่านแดนด่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว และเป็นประตูการค้าสู่กลุ่มประเทศอินโดจีน ทำให้เป็นที่นิยมในการเดินทางมาจับจ่ายใช้สอยของประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งมีแผนพัฒนาระบบขนส่งให้เป็น Transportation Hub ทั้งทางบก ทางราง รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง เชื่อมต่อ ไทย-ลาว-จีน-คุณหมิง ในอนาคตอีกด้วย ทั้งนี้หนองคายมีมูลค่าการค้าชายแดนไทย-ลาว สูงสุดของประเทศไทย ปีละไม่ต่ำกว่า 8 หมื่นล้านบาท มีนักท่องเที่ยวกว่า 2 ล้านคนต่อปี สร้างรายได้ภาคท่องเที่ยวกว่า 3,350 ล้านบาท ทั้งนี้ โรบินสัน ไลฟ์สไตล์ หนองคาย จะกลายเป็นแลนด์มาร์กใหม่ของเมืองรองที่รวมทุกความสุข ก่อให้เกิดการใช้ชีวิตอย่างมีสีสันและมีชีวิตชีวาของทุกคน
การลงทุนของกลุ่มเซ็นทรัลในจังหวัดนครพนม และ หนองคาย จะช่วยรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและผลักดันการขยายตัวทางการค้าการลงทุน การบริการ การท่องเที่ยว อีกทั้งส่งเสริมการเกษตรสมัยใหม่ สนับสนุนการจ้างงาน และยกระดับความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้นอย่างยั่งยืน
- ภาคกลาง : ศูนย์การค้าเซ็นทรัล นครสวรรค์ (ไตรมาสแรกปี 67) ตั้งอยู่บนแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridors (NSEC) ที่จะร่วมเติมเต็มศักยภาพและเสริมความแข็งแกร่งให้กับจังหวัดนครสวรรค์ควบคู่กับแผนของภาครัฐที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นในอนาคต เช่น รถไฟความเร็วสูงสายเหนือ, รถไฟทางคู่สายนครสวรรค์-แม่สอด เป็นต้น โดยจังหวัดนครสวรรค์ถือเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมไทย-จีน รวมทั้งเป็นที่ตั้งของชุมชนชาวจีนขนาดใหญ่อีกด้วย, ศูนย์การค้าเซ็นทรัล นครปฐม (ไตรมาสสอง ปี 67) เป็นการขยายไปภาคตะวันตกโดยมีนครปฐมเป็นประตูเชื่อมไปยังจังหวัดใกล้เคียง คือ ราชบุรี และกาญจนบุรี เป็นศูนย์กลางของเมืองรองที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้โดยไม่ต้องเดินทางเข้ากรุงเทพฯ
-
2. รุกพัฒนาคน เมือง ประเทศ ด้วย เซ็นทรัล..พัฒนา
- พัฒนาคน เมื่อพื้นที่หัวเมืองหรือเมืองรองเกิดการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ จะกลายเป็นศูนย์กลางหรือเดสติเนชั่นแห่งการช้อปปิ้ง อาหาร แบรด์ดัง แฟชั่น และการใช้ชีวิต ซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ตั้งแต่ระดับฐานราก ชุมชน เอสเอ็มอี และผู้ประกอบการขนาดใหญ่ เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ ทำให้ผู้คนทุกระดับมีรายได้ในการจับจ่ายใช้สอย ธุรกิจมีสภาพคล่องที่ดี อีกทั้งสร้างโมเมนตัมการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวให้โตอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การสะพัดของเม็ดเงินตลอดอีโคซิสเต็มในระดับภูมิภาคที่แข็งแกร่ง ทั้งนี้กลุ่มเซ็นทรัลคาดว่าภายใน 5 ปี จะมีพนักงานประจำรวม มากกว่า 100,000 คน และมีการจ้างงานมากกว่า 300,000 ตำแหน่งทั่วประเทศ
- พัฒนาเมือง ส่งเสริมให้เกิดศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ที่เร่งให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ได้อย่างมีศักยภาพ รองรับระบบคมนาคม การค้า โลจิสติกส์ ตลอดจนกิจกรรมต่างๆ ของภาครัฐและเอกชนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อดึงดูดนักลงทุน นักเดินทางเพื่อธุรกิจหรือนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ
- พัฒนาประเทศ ยุทธศาสตร์การลงทุนของกลุ่มเซ็นทรัล มีเป้าหมายในการร่วมพัฒนาประเทศ และส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง ยกระดับประเทศให้มีรายได้ต่อครัวเรือนให้สูงขึ้น ต่อยอดให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับมหภาค อีกทั้งส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้ก้าวไปข้างหน้าและสร้างความแตกต่างด้วยแม่เหล็กที่เป็นศิลปะวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของแต่ละท้องถิ่นในรูปแบบ Community-based tourism and sustainable tourism ปั้นเมืองรองให้โดดเด่น กระจายรายได้สู่ท้องถิ่นด้วยงบสนับสนุนชุมชนทั่วประเทศกว่า 400 ล้านบาทต่อปี ปักธงไทยเป็นจุดหมายปลายทางระดับโลก
3. รุกยกระดับคุณภาพชีวิตและสังคม ด้วย เซ็นทรัล..ทำ
- ทำให้สังคมน่าอยู่ ด้วยการยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนให้เติบโตร่วมกันอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสให้ทุกคนในสังคม ตลอดจนใส่ใจสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการ “เซ็นทรัล ทำ” - ทำด้วยกัน ทำด้วยใจ โครงการด้านความยั่งยืนของกลุ่มเซ็นทรัล ดำเนินงานภายใต้แนวคิดการสร้างคุณค่าร่วม (Creating Shared Values – CSV)
- ทำการพัฒนาพื้นที่ ครอบคลุม 44 จังหวัด ด้วยงบประมาณกว่า 200 ล้านบาทต่อปี โดยในปี 2565 สร้างรายได้ให้ชุมชนรวมกว่า 1,500 ล้านบาท สนับสนุนชุมชนกว่า 100,000 ครัวเรือน สร้างอาชีพให้คนพิการ 751 คน เพิ่มพื้นที่สีเขียวและฟื้นฟูป่า 5,519 ไร่ ทั้งนี้ในปี 2566 ตั้งเป้าสร้างรายได้ให้ชุมชน 1,800 ล้านบาท ปลูกป่า 6,500 ไร่
- ทำเพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาทรัพยากรบุคคล ส่งเสริมและมอบโอกาสทางการศึกษา ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้แบบ Project-based Learning ผ่านการลงมือปฏิบัติจริงในฐานการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พัฒนาหลักสูตรการศึกษา พัฒนาทักษะที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ทำการอบรมโค้ชครู เพื่อเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนแบบท่องจำ ให้เป็นการเรียนรู้ร่วมกันอย่างมีความสุข รวมไปถึงการปรับปรุงสถานศึกษา และ มอบทุนการศึกษา
- ทำให้คนพิการมีงานทำ ส่งเสริม สร้างอาชีพ เพิ่มโอกาสในการทำงานแก่คนพิการ ให้สามารถเลี้ยงดูตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยการแบ่งปันความรู้ สอนทักษะและสร้างอาชีพ เพื่อฟื้นฟูศักยภาพ ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนพิการ เปิดโอกาสโดยการรับเป็นพนักงานประจำกว่า 80 คน ที่ ศูนย์ Contact Center และศูนย์ซ่อม นอกจากรายได้ที่มั่นคงแล้ว สิ่งสำคัญคือ การได้รับการยอมรับจากคนในสังคม
- ทำให้ชุมชนมีรายได้ที่ยั่งยืน ด้วยโครงการจริงใจ ฟาร์มเมอร์มาร์เก็ต เปิดพื้นที่ให้เกษตรกรท้องถิ่นนำพืชผักผลไม้ปลอดภัยและสินค้าขึ้นชื่อของชุมชนมาจำหน่ายในพื้นที่ของกลุ่มเซ็นทรัล สร้างรายได้ที่มั่นคงและสร้างสุขภาพที่ดีให้ผู้บริโภค ปัจจุบันขยายสาขามากกว่า 32 สาขาทั่วประเทศไทย สนับสนุนเครือข่ายเกษตรกรกว่า 10,000 ครัวเรือน และสร้างรายได้ให้ชุมชน 255 ล้านบาท
- ทำพื้นที่ให้มีประโยชน์ต่อชุมชน โดยการมอบพื้นที่จำหน่ายสินค้าฟรี ปีละไม่ต่ำกว่า100,000 ตร.ม. คิดเป็นมูลค่า 300 ล้านบาท
- ทำให้เป็นธุรกิจสีเขียว ภายใต้การดำเนินธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม มุ่งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เดินหน้าสู่ Net Zero ในปี 2050 พร้อมขับเคลื่อนโครงการด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ อาทิ ศูนย์การค้าต้นแบบด้านสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้พลังงานทดแทน การติดตั้งหลังคาโซล่าร์เซลล์ สถานีอีวีชาร์จเจอร์ การบริหารจัดการขยะ ฯลฯ
- ทำให้ทุกคนมีความสุขด้วยการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ด้วยการพัฒนาสินค้าชุมชนและจัดหาช่องทางตลาด, การส่งเสริมและบูรณะพิพิธภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรี, การสร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่, การสนับสนุนโอกาสการศึกษา, กิจกรรมวิ่งมินิมาราธอนการกุศลระดมทุนช่วยผู้ป่วยมะเร็งในสตรี, การเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยการปลูกป่า และการส่งเสริมเอสเอ็มอี เป็นต้น
ทั้งนี้กลุ่มเซ็นทรัล พร้อมและยินดีสนับสนุนทุกภาคส่วนในการส่งเสริมเศรษฐกิจประเทศ โดยใช้จุดแข็งในฐานะผู้นำค้าปลีกและบริการระดับสากล ภายใต้ความรู้ความเชี่ยวชาญที่มี ประกอบกับทีมบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ และความแข็งแกร่งของลอยัลตี้แพลตฟอร์ม The 1 ในการวิเคราะห์ข้อมูลของผู้บริโภค เพื่อใช้ในขยายการลงทุนไปยังหัวเมืองหรือเมืองรองต่างๆ ด้วยการยึดมั่นเจตนารมณ์แห่งการพัฒนาร่วมกันอย่างยั่งยืนในทุกมิติ
กลุ่มเซ็นทรัล เชื่อว่าด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจของทุกฝ่ายในการร่วมมือกัน ลงมือทำเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง สร้างเมืองให้น่าอยู่ พัฒนาให้เป็นเมืองต้นแบบ จะสามารถต่อยอดไปสู่พื้นที่โดยรอบ เพื่อเป็นศูนย์กลางแห่งการใช้ชีวิตที่สมบูรณ์แบบ และนำไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืนโดยคงไว้ซึ่งคุณค่าและเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน สังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน.