26 มีนาคม 2568

เซ็นทรัล ทำ ผนึกกำลังขับเคลื่อนชุมชนให้เติบโตด้วยพลังของการทำ ร่วมกันยกระดับคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจพร้อมดูแลสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืนอย่างแท้จริง

กรุงเทพ 24 มี.ค.68 ; ด้วยความเชื่อมั่นว่า “การเติบโตของธุรกิจ ต้องเดินไปพร้อมกับการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล” กลุ่มเซ็นทรัลจึงมุ่งขับเคลื่อน “เซ็นทรัล ทำ – ทำด้วยกัน ทำด้วยใจ” โครงการด้านความยั่งยืนของกลุ่มเซ็นทรัล ที่ดำเนินมากว่า 8 ปีอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ สร้างอาชีพ และพัฒนาสังคมให้ ก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน ตาม 6 แนวทาง Community – พัฒนาศักยภาพและส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน, Inclusion – การลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคในการเข้าถึงโอกาสอย่างเท่าเทียม, Talent – พัฒนาศักยภาพที่เป็นเลิศของบุคลากร, Circularity – ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน, Climate – การฟื้นฟูสภาพอากาศ และ Nature – การอนุรักษ์ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ

ตลอดปี 2567 ที่ผ่านมา “เซ็นทรัล ทำ” ได้สร้างผลลัพธ์ที่จับต้องได้ในหลายมิติอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นการสร้างงานและสนับสนุนอาชีพให้แก่คนพิการกว่า 1,100 คน สร้างรายได้ให้กับชุมชนกว่า 1,700 ล้านบาท ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนในชุมชนมากกว่า 150,000 ราย สนับสนุนและพัฒนาโรงเรียน 192 แห่ง เพิ่มพื้นที่สีเขียวและฟื้นฟูป่ากว่า 19,385ไร่ ลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหารกว่า 19,254 ตัน ลดปริมาณขยะที่เข้าสู่หลุมฝังกลบกว่า 43,663 ตัน ติดตั้งจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า 1,430 สถานที่ ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา 215 แห่ง และผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้มากถึง 207,176 เมกะวัตต์-ชั่วโมง ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ (Sustainable Development Goals – SDGs) ขององค์การสหประชาชาติอย่างแท้จริง

พิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า โครงการ “เซ็นทรัล ทำ” – ทำด้วยกัน ทำด้วยใจ คือโครงการด้านความยั่งยืนของกลุ่มเซ็นทรัล ที่มุ่งมั่นสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสังคม ตลอดเวลากว่า 8 ปี ของการดำเนินโครงการ เราได้ร่วมมือกับชุมชนเพื่อพัฒนาและต่อยอดจนเกิดเป็น ศูนย์การเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ทุกก้าวของ “เซ็นทรัล ทำ” คือความภาคภูมิใจในการลงมือทำและร่วมมือกันสร้างสรรค์สิ่งที่ดี หัวใจสำคัญของโครงการนี้คือได้ขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้า และสะท้อนถึงแนวคิดที่ว่า การเติบโตของธุรกิจต้องเดินไปพร้อมกับการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล ผ่านความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เช่น ชุมชน คู่ค้า ลูกค้า หรือพนักงาน ซึ่งนำไปสู่การ สร้างงาน สร้างอาชีพ และยกระดับคุณภาพชีวิต อย่างยั่งยืน

ความคืบหน้าใน ปี 2568 ของ 4 จังหวัดต้นแบบ

1. จังหวัด น่าน วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์ตำบลบัวใหญ่ อ.นาน้อย เซ็นทรัล ทำ และพันธมิตร ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา, สำนักงานพาณิชย์จังหวัด, มูลนิธิอุทกพัฒน์ และกรมพัฒนาชุมชน ด้วยการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ปลูกไม้ยืนต้น ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ และพัฒนาผลผลิตเพื่อเตรียมเข้าสู่การจดทะเบียนเป็นสินค้า GI (สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์) เช่น ฟักทองพันธุ์ไข่เน่า โกโก้ มะม่วงหิมพานต์ พร้อมแปรรูปจำหน่ายในงาน “จริงใจ มาหา...นคร 2024” และในร้านค้าชุมชน รวมถึงส่งต่อไปยังธุรกิจในเครือกลุ่มเซ็นทรัล เช่น ท็อปส์ ในปี 2567 สามารถสร้างรายได้ให้ชุมชน 10 ล้านบาท และสร้างคุณภาพชีวิตให้แก่ สมาชิกวิสาหกิจ 179 ครัวเรือน รวมถึงได้มีการสนับสนุนสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์ตำบลบัวใหญ่ อ.นาน้อย เพื่อรองรับโครงการ “เสน่ห์น่านใต้” ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และส่งเสริมการแปรรูปฟักทอง โกโก้ มะม่วงหิมพานต์ เช่น ข้าวเกรียบฟักทอง และเลี้ยงไก่ไข่เชิงพาณิชย์ พร้อมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ผู้เข้าอบรบดูงาน เยี่ยมชมชุมชน และนักท่องเที่ยวในปี 2567 กว่า 7,000 คน

ด้านสิ่งแวดล้อม ร่วมสร้างฝาย แหล่งน้ำ ระบบกระจายน้ำ ช่วย 50 ครัวเรือนทำเกษตรอินทรีย์ ลดภัยแล้ง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ 2,800 ไร่

ด้านการศึกษา พัฒนาโรงเรียนชุมชนบ้านอ้อยครบวงจร สนับสนุนห้องเรียน ICAP ทักษะ EF, STEM, ห้องสมุด จัดตั้งห้องทักษะอาชีพ สนับสนุนห้องกีฬาปันจักสีลัต และคอมพิวเตอร์ มีนักเรียน 586 คน ครู 60 คน พร้อมสนับสนุนอาชีพคนพิการ ขยายเครือข่ายรวม 50 คน พัฒนาผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ Good Goods และจัดตั้งศูนย์เรียนรู้อาชีพระดับภูมิภาค

2. จังหวัดอยุธยา ความสำเร็จของเกษตรกรบ้านหมู่ใหญ่ใน หรือ กลุ่ม "วิสาหกิจชุมชนเมล่อนหมู่ใหญ่ร่วมใจพัฒนา" ต.คู้สลอด อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ผลิตเมล่อนภายใต้ชื่อ “Smile Melon” สามารถเปิดช่องทางการขายในตลาดไปยังประเทศสิงคโปร์ จำนวนกว่า 6.2 ตัน สร้างรายได้กว่า 530,400 บาท และยังคงมียอดการสั่งต่อเนื่องมาถึงปี 2568 รวมยอดที่ส่งออกไปสิงคโปร์ ทั้งสิ้น 25.2 ตัน รายได้รวม 2 ล้านบาท นอกจากนี้ เซ็นทรัล ทำ สนับสนุนการผลิตเมล่อนคุณภาพโดยจัดสรรงบประมาณสร้างโรงคัดบรรจุสินค้าตามมาตรฐาน GMP โดยสนับสนุนโรงเรือน จำนวน 7 โรงเรือน พร้อมออกแบบแพ็คเกจจิ้งและป้าย เพื่อจำหน่ายที่ท็อปส์ และเปิดฟาร์มเป็นสถานที่ศึกษาดูงานด้านการปลูกเมล่อนโดยในปี 2567 ที่ผ่านมามี ผู้เข้าอบรม/ดูงานกว่า 1,200 คน ปัจจุบันฟาร์มเมล่อน ได้ยกระดับเป็นชุมชนท่องเที่ยววิถีชุมชน มีนักท่องเที่ยวเฉลี่ยปีละประมาณ 2,000 คน สร้างรายได้ให้ชุมชนไปแล้วถึง 17 ล้านบาท เป็นการเพิ่มรายได้ด้านการท่องเที่ยวให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งในปี 2568 มีเป้าหมายที่จะขยายเครือข่ายผู้ปลูกไปยังจังหวัดอื่นๆ เช่น ชัยนาท วางแผนการส่งออกและเพิ่มปริมาณเมล่อนไปยังสิงคโปร์ได้ทุกเดือนและพัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้การผลิตเมล่อนมาตรฐานส่งออก

โครงการสิ่งแวดล้อมในอยุธยามุ่งยกระดับการจัดการของเสียทางการเกษตร โดยฟาร์มเมล่อนหมู่ใหญ่ร่วมใจพัฒนานำเมล่อนที่เน่าเสียมาเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงไก่ โดยมีแผนขยายโครงการไปยังชุมชนเกษตรและโรงเรียน รวมถึงเพิ่มการใช้ประโยชน์จากของเสียทางการเกษตร เช่น ฟางข้าวและผักตบชวา นอกจากนี้ยังมีโครงการจัดการขยะในศูนย์การค้าเซ็นทรัล อยุธยา ที่คัดแยกและรีไซเคิลขยะ

นอกจากนี้ได้พัฒนาโรงเรียนวัดหนองไม้ซุง สนับสนุนฐานเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ทักษะกีฬาเทเบิลเทนนิส และความเป็นอยู่ของนักเรียน พร้อมขยายเครือข่ายคนพิการเข้าสู่โครงการส่งเสริมอาชีพ โดยมีเป้าหมายปี 2568 ในการขยายเครือข่ายคนพิการที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมอาชีพ อีกทั้งยังสนับสนุนการสร้างอาชีพให้กับคนพิการผ่านการสนับสนุนกลุ่มผู้ปกครอง คนพิการทางสติปัญญา จัดตั้งวิสาหกิจชุมชนสินค้าแฮนด์เมดผู้ปกครองคนพิการสติปัญญาทำอาชีพผลิตสินค้าหัตถกรรม โดยเซ็นทรัล ทำ สนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดซื้อวัสดุ พัฒนาผลิตภัณฑ์ และจำหน่ายภายใต้แบรนด์ Good Goods พร้อมทั้งการสนับสนุนพื้นที่ในการจัดจำหน่ายสินค้าของชมรม ภายในศูนย์การค้าเซ็นทรัล อยุธยา เป้าหมายปี 2568 ขยายเครือข่ายกลุ่มผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญา คนพิการที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมอาชีพ เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่วิสาหกิจ ในปีที่ผ่านมาสามารถ สร้างรายได้ 2 ล้านบาทให้คนพิการ

3. จังหวัด เชียงใหม่ ชุมชนเกษตรอินทรีย์วิถีชีวิตยั่งยืนแม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ เซ็นทรัล ทำ ร่วมกับมูลนิธิสายใยแผ่นดิน (Earth Net Foundation) พัฒนา “พื้นที่วิถียั่งยืนแม่ทา” ตั้งแต่ปี 2560 มุ่งสร้างเกษตรอินทรีย์ต้นแบบ พร้อมผลักดันคนรุ่นใหม่สู่บทบาทเกษตรกรรุ่นใหม่ ได้มีการพัฒนาคุณภาพผลผลิต สนับสนุนการรับซื้อ สร้างแบรนด์ ออกแบบบรรจุภัณฑ์ และขยายช่องทางจัดจำหน่าย เพิ่มรายได้อย่างยั่งยืน พร้อมสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น อาคารอบรม ห้องคัดแยกเมล็ดพันธุ์ อาคารคัดบรรจุผักมาตรฐาน อย. ตลอดจนรถขนส่งห้องเย็น ในปี 2567 สามารถ สร้างรายได้ให้ชุมชนแม่ทาไปแล้ว 14 ล้านบาท สร้างคุณภาพชีวิตให้แก่ชุมชนแม่ทา 130 ครัวเรือน ปัจจุบันชุมชนแม่ทาพัฒนาโฮมสเตย์และศูนย์เรียนรู้ เตรียมความพร้อมในการก้าวไปสู่การท่องเที่ยวชุมชนเพื่อสุขภาพแบบองค์รวม (Holistic Wellness) เพื่อให้พื้นที่แห่งนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการเพาะเมล็ดพันธุ์ในใจคนที่ได้มีโอกาสมาสัมผัสประสบการณ์ในแบบแม่ทา เริ่มตั้งแต่ Gastronomic Delight การกินอาหารให้เป็นยา ดอกไม้กินได้ วัตถุดิบธาตุเจ้าเรือน Creative Agriculture การอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ความมั่นคงทางอาหาร ห้องเรียนธรรมชาติ Folk Wisdom & Healing การรักษาโรคด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น Art & Heart ศิลปะบนผืนผ้า สปาบำบัด มีผู้เข้าอบรบและดูงานในชุมชนแม่ทากว่า 800 คน

ในมิติสิ่งแวดล้อม เซ็นทรัล ทำ ดำเนินการจัดการขยะ ณ ตลาดจริงใจ แปรรูปขยะอินทรีย์ 7.52 ตัน เป็นปุ๋ยและก๊าซชีวภาพ รีไซเคิลวัสดุ 8.74 ตัน เตรียมเปิด “ศูนย์การเรียนรู้ด้านการจัดการขยะ” ปี 2568 และพร้อมขยาย “กาแฟสร้างป่า” ที่แม่แจ่ม คลอบคลุมพื้นที่ประมาณ 1,570 ไร่ ในปี 2568 จะเริ่มดำเนินโครงการความริเริ่มไม่เผา “Zero Burning Initiatives” ซึ่งได้ถูกนำมาใช้เป็นกลยุทธ์ระยะยาวเพื่อต่อสู้กับ มลพิษ PM2.5 ในเชียงใหม่ ลดเผาเศษวัสดุการเกษตร ฟื้นฟูพื้นที่ 10,000 ไร่ สู่เศรษฐกิจหมุนเวียน

เซ็นทรัล ทำ พัฒนาโรงเรียนวัดดอนชัย อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ ปรับปรุงอาคาร ห้องคอมพิวเตอร์ ห้องสมุด และฐานเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง พร้อมผลักดันให้นักเรียนมีทักษะอาชีพที่สอดคล้องกับชุมชนเกษตรอินทรีย์แม่ทา โดยตั้งเป้าให้โรงเรียนเป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ในปี 2568

นอกจากนี้ ยังส่งเสริมอาชีพคนพิการในเชียงใหม่กว่า 22 ราย ทั้งในศูนย์เกษตรอินทรีย์แม่ทา โครงการทอผ้าซาโอริ โครงการจ้างนักศึกษาคนพิการทำงานระหว่างเรียน และรีไซเคิลขยะ รวมถึงจ้างงานในร้าน Good Goods และโรงเรียนที่เซ็นทรัลทำดูแล เพื่อสร้างรายได้และโอกาสอย่างยั่งยืน

4. จังหวัด ชัยภูมิ วิสาหกิจชุมชนปลูกพืชเศรษฐกิจบ้านเทพพนา อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ เป็น 1 ใน 7 ของ ผู้ปลูกอะโวคาโด พันธุ์แฮสส์ในประเทศไทย ซึ่งเป็นสายพันธุ์คุณภาพระดับโลก มุ่งสู่เกษตรอัจฉริยะแบบยั่งยืน ติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ ธนาคารน้ำใต้ดิน ใช้ปุ๋ยหมักเติมอากาศ และเพาะเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี เพื่อแก้ปัญหาโรคพืชในการปลูกอะโวคาโด ซึ่งในปี 2567 ที่ผ่านมาสามารถสร้างรายได้แก่ สมาชิกวิสาหกิจชุมชน 40 ล้านบาท และขยายผลเครือข่ายผู้ปลูกอะโวคาโดได้ถึง 1,000 ราย นอกจากนี้ โครงการ “เซ็นทรัล ทำ” ของกลุ่มเซ็นทรัล ได้พัฒนาต่อยอดด้านการท่องเที่ยวชุมชนเชิงเกษตรอินทรีย์ ร่วมกับสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด จัดทำเส้นทางท่องเที่ยวรองรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทุกปี โดย การสร้างศูนย์การเรียนรู้ 2 อาคาร สามารถรองรับผู้เข้าอบรมและนักท่องเที่ยวรวมทั้งหมด 14,000 คน

โครงการฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวและส่งเสริมนวัตกรรมเกษตรยั่งยืน ครอบคลุม 5,000 ไร่ ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาดินเสื่อมโทรมและรายได้ไม่มั่นคง โดยส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจมูลค่าสูง เช่น อะโวคาโด, แมคคาเดเมีย, ทุเรียน, และกาแฟโรบัสต้า พร้อมพัฒนาโรงผลิตถ่านไบโอชาร์และปุ๋ยหมักจากเศษวัสดุทางการเกษตร เพื่อลด PM2.5 ถ่านไบโอชาร์ช่วยฟื้นฟูดิน ลดต้นทุนการใช้ปุ๋ย กักเก็บคาร์บอน และรักษาความชุ่มชื้น นอกจากนี้วิสาหกิจชุมชน ขยายผลเป็น “ศูนย์เรียนรู้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อการเกษตร” บูรณาการโรงผลิตถ่านชีวภาพและปุ๋ยหมัก เพื่อฝึกอบรมและขยายการเกษตรยั่งยืนทั่วภูมิภาค ตั้งเป้าเป็นโมเดลต้นแบบ สร้างเครือข่ายเกษตรสีเขียว และความมั่นคงทางเศรษฐกิจระยะยาวให้เกษตรกรท้องถิ่น

นอกจากนี้ยังพัฒนาโรงเรียนบ้านไร่พัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ ตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมต้น ร่วมกับวิสาหกิจ ส่งเสริมการปลูกอะโวคาโด พร้อมจ้างงานเชิงสังคมสำหรับคนพิการในสวน พัฒนาทักษะและสร้างรายได้ โดยตั้งเป้าขยายการจ้างงานต่อเนื่องในปี 2568 โรงเรียนบ้านไร่พัฒนาเป็นต้นแบบด้านการศึกษาและการศึกษาดูงานในพื้นที่ พร้อมยกระดับการเรียนรู้ให้กับโรงเรียนในเครือข่าย 10 โรงเรียน โดยเน้นการพัฒนาครูในด้านภาษาอังกฤษ, STEM, และการสร้างนักเรียนที่มีคุณธรรม

เซ็นทรัล ทำ เชื่อมั่นว่า การลงมือทำร่วมกันด้วยใจ คือรากฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ไม่เพียงแต่สร้างเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง แต่ยังร่วมกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สนับสนุนการเกษตรยั่งยืน และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมเปิดโอกาสให้ชุมชนได้พัฒนาทักษะ สร้างรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตในระยะยาว