เมื่อบริบทโลกได้เปลี่ยนแปลงไป การดำเนินธุรกิจก็แปรผันตาม ปัจจุบันภาคธุรกิจและองค์กรต่างๆ ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานที่มุ่งเน้นให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้นโยบายเป้าหมายหลักในมิติต่างๆ ทั้ง สิ่งแวดล้อม ชุมชน สังคม คำนึงถึงหลักธรรมาภิบาล จึงเป็นโจทย์สำคัญให้หลายองค์กร ปรับแผนการดำเนินงานใหม่ให้การบริหารธุรกิจ ควบคู่ไปกับการสนับสนุนและพัฒนาด้านสังคม และสิ่งแวดล้อม สร้างการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน

เช่นเดียวกับ บริษัทค้าปลีกชั้นนำสัญชาติไทยอย่าง CRC หรือ เซ็นทรัล รีเทล ที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและลงมือทำจริงอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ล่าสุดเซ็นทรัล รีเทล ได้รับเลือกให้เป็น หุ้นยั่งยืน Thailand Sustainability Investment (THSI) ประจำปี 2564 จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในปีแรกที่ทำการเข้าร่วมการประเมิน แม้บริษัทจะเพิ่งเข้าตลาดหลักทรัพย์มาได้ ไม่นาน ซึ่งถือเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และสะท้อนให้เห็นว่า เซ็นทรัล รีเทล เป็นภาคธุรกิจที่ วางแนวทางและนำศักยภาพองค์กร มาร่วมสนับสนุนการแก้ไขปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ พร้อมทั้งผลักดันกลยุทธ์การพัฒนาด้านความยั่งยืน ให้เป็นส่วนสำคัญในการบริหารจัดการธุรกิจ มีกระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ครอบคลุม พร้อมปรับตัว การสร้างโอกาสในการแข่งขันผ่านนวัตกรรมทางธุรกิจ และเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงให้ความสำคัญและคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชน และสังคม ตลอดจนมีแนวทางการบริหารจัดการที่รวดเร็วในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี

แม่ทัพใหญ่แห่ง “เซ็นทรัล รีเทล” ญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC เผยสูตรสำเร็จในการก้าวสู่การเป็นองค์กรต้นแบบธุรกิจค้าปลีกแห่งอนาคตว่า เซ็นทรัล รีเทล มีเป้าหมายองค์กรชัดเจน ในการเป็น Central to Life หรือ ศูนย์กลางชีวิตของทุกคน โดยพันธกิจขององค์กรคือ การทำเพื่อคนไทย เพื่อชุมชน และประเทศชาติ ดังนั้นหัวใจหลักในการพัฒนาองค์กรที่สำคัญ คือ การดำเนินธุรกิจที่ตระหนักถึงผลกระทบระยะยาว และสร้างคุณค่าร่วมกับลูกค้า คู่ค้า ชุมชน และโลกของเรา บนหลักธรรมาภิบาล เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับคนรุ่นถัดไป จากคำมั่นสัญญาสู่ความต่อเนื่องในการลงมือทำอย่างไม่ลดละ ด้วยกลยุทธ์ 4P ขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ที่สอดคล้องกับหลักความใส่ใจสิ่งแวดล้อม สังคม และหลักธรรมาภิบาล หรือ ESG ผ่านกรอบแนวคิด 4 แกนหลักคือ

1. ความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน (People)

มุ่งเน้นการพัฒนาองค์ความรู้ โดยนำความเชี่ยวชาญมาต่อยอด เพื่อสร้างคุณค่าให้พนักงาน คู่ค้า ลูกค้า และผู้ที่อยู่ใน ecosystem เดียวกัน อาทิ สนับสนุนอาชีพคนพิการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาศักยภาพของพนักงาน ด้วยการสนับสนุนทุนการศึกษา การเคารพสิทธิมนุษยชนของพนักงาน รวมถึงการจำหน่ายสินค้าที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค ซึ่งทำให้ผลิตภัณฑ์สุขภาพเติบโตในอัตราที่สูงกว่าอัตราเฉลี่ยของประเทศร้อยละ 20

2. การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน (Prosperity)

มุ่งเน้นการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ และสร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย รวมถึงการรับมือต่อกระแสโลกที่ปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา อาทิ การบริหารจัดการซัพพลายเชนให้มีความรวดเร็วในการขนส่งสินค้า โดยสามารถลดเวลาส่งมอบสินค้าเฉลี่ยเหลือเพียง 1.8 วัน และการพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีที่ทันสมัยสอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การตลาดแบบ Omnichannel เพื่อเข้าถึงลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว สะดวกสบาย พร้อมมอบประสบการณ์ที่ดีในการช้อปปิ้งได้อย่างสมบูรณ์แบบ

3. คุณภาพสิ่งแวดล้อม (Planet)

มุ่งเน้นการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมจากต้นน้ำถึงปลายทางอย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบที่ได้มาตรฐาน การใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด และจัดการอย่างถูกวิธี เพื่อส่งเสริมการดูแลสิ่งแวดล้อมจากภายในสู่ภายนอกองค์กร โดยมีการลดปริมาณขยะมูลฝอย และลดปริมาณมลพิษด้วยพลังงานสะอาด การจัดการขยะอินทรีย์อย่างถูกวิธี ผ่านกระบวนการหมักปุ๋ยชีวภาพ และการหมุนเวียนนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงการลดการสร้างขยะให้เป็นศูนย์ ภายใต้โครงการ Journey to Zero และการจัดแคมเปญ Say No to Plastic Bags ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก และช่วยลดการใช้ถุงพลาสติกได้ถึง 236 ล้านใบ

4. ความสงบสุข ศิลปวัฒนธรรม และความร่วมมือ (Peace & Partnerships)

มุ่งเน้นการสร้างคุณค่าร่วมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในสังคมและชุมชนท้องถิ่น ส่งเสริมภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อม และการเติบโตทางเศรษฐกิจ อาทิ การสร้างความสัมพันธ์อันดีกับชุมชน และการสรรหาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่มีคุณภาพ เพื่อช่วยส่งเสริมการแข่งขันทางธุรกิจ ซึ่งได้สนับสนุนการพัฒนาชุมชนไปแล้ว 44 จังหวัด และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยได้มากกว่า 500,000 คน นำไปสู่การสร้างรายได้สู่ชุมชนมากกว่า 1,200 ล้านบาท อาทิ โครงการ จริงใจ ฟาร์เมอร์มาร์เก็ต ที่สนับสนุนช่องทางการจัดจำหน่ายให้กับเกษตรกร ทั่วทุกภูมิภาค โดยปัจจุบันเปิดไปแล้วมากกว่า 23 สาขา

ทั้งนี้ในช่วงวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา เซ็นทรัล รีเทล ได้ให้การสนับสนุนด้านสาธารณสุข ควบคู่ไปกับการช่วยเหลือ และฟื้นฟูเศรษฐกิจ ให้ประเทศเดินหน้าต่อได้ อาทิ สนับสนุนการเป็นหน่วยร่วมบริการฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล การส่งมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ อาหารและสิ่งของจำเป็น พร้อมทั้งดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของพนักงาน ด้วยการจัดตั้ง ‘ศูนย์พักคอย โดยเซ็นทรัลทำ’ รวมไปถึงความร่วมมือและปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ยึดถือในเรื่องความปลอดภัย และสุขอนามัยของพนักงาน และลูกค้าเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินงาน ไปจนถึงการรักษาการจ้างงานในภาคค้าปลีก และบริการที่มีมากกว่า 19 ล้านคนในระบบโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ขณะเดียวกันก็มีการวางรากฐานการดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ตรวจสอบได้ และมีความโปร่งใส

“ทั้งหมดนี้ คือ ความตั้งใจของ เซ็นทรัล รีเทล ที่ลงมือทำจริงมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ภาคธุรกิจเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างผลลัพธ์เชิงบวก ในระยะยาว ที่มีคุณภาพ เพื่อยกระดับชีวิตผู้คน สังคมและโลกให้ดียิ่งขึ้น โดยเรายังคงมุ่งมั่นที่จะปรับตัว ปรับกลยุทธ์ และบริหารจัดการองค์กรบนหลักธรรมาภิบาลต่อไป เพื่อสร้างคุณค่าและประโยชน์ให้แก่สังคมที่เราดำเนินธุรกิจอยู่ ควบคู่กับการสร้างความยั่งยืนของธุรกิจให้เติบโตไปพร้อมๆ กัน” นายญนน์ กล่าวสรุป


แกลลอรี่