ตั้งแต่ ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน กว่า 8 ปี ที่โครงการ “เซ็นทรัล ทำ” ทำด้วยกัน ทำด้วยใจ ภายใต้โครงการหลักการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน ของกลุ่มเซ็นทรัล ได้ขับเคลื่อนโครงการด้วยการลงพื้นที่กับชาวชุมชนนาหมื่นศรี จังหวัดตรัง ร่วมส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน สร้างอาชีพ และบรรเทาสาธารณภัย รวมทั้งเล็งเห็นถึงความสำคัญในการสืบสานวัฒนธรรมที่มีมานับร้อยปีและพัฒนาสู่โมเดลท่องเที่ยวชุมชน โดยเปิดโครงการศูนย์การเรียนรู้ชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี เพื่อสืบสานวิถีชุมชนเกษตรหัตกรรมผ้าทอมือโบราณของทางภาคใต้, ขับเคลื่อนการศึกษา, จัดทำเส้นทางจักรยานท่องเที่ยวชุมชน, อบรมการเป็นมัคคุเทศก์ รวมไปถึงออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรี ทำให้สามารถกระจายรายได้สู่ชุมชุมกว่า 56 ล้านบาท 155 ครัวเรือน (ข้อมูล ณ เดือน กรกฎาคม 65) โดยได้รับความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน เพื่อส่งต่อให้คนรุ่นหลังสืบไป

พิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า ด้วยความตระหนึกถึงความสำคัญในการสืบสานวัฒนธรรมโบราณ และยังสามารถต่อยอดสู่ชุมชน เซ็นทรัล ทำ จึงได้ริเริ่มพัฒนา “โครงการท่องเที่ยวชุมชน ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี” โดยการเข้าไปช่วยพัฒนาด้านการออกแบบของผ้าทอนาหมื่นศรีให้มีความทันสมัยเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน และปรับปรุงโรงทอผ้าเดิมให้เป็นพิพิธภัณฑ์ ตั้งแต่ปี 2557 เพื่อใช้เป็นสถานที่รวบรวมลายผ้าและผ้าทอโบราณไม่ให้สูญหาย รวมถึงให้ลูกหลานของชุมชนได้เรียนรู้เรื่องราวผ้าทอของบรรพบุรุษที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มีความโดดเด่นเรื่องการใช้สีและลายผ้าซึ่งมีแนวคิดมาจากประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่นซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชาวจังหวัดตรัง และในปี 2561 ได้ปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรีอีกครั้ง เพื่อยกระดับให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งภายในศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ ประกอบด้วย โรงทอผ้า, พิพิธภัณฑ์ผ้าทอ, ร้านค้าวิสาหกิจชุมชนนาหมื่นศรี และการท่องเที่ยวชุมชน พร้อมด้วยมัคคุเทศก์ที่จะมาคอยบอกเล่าถึงตำนานผ้าทอนับร้อยปี ของตำบลนาหมื่นศรี อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง และจะพัฒนาสู่การท่องเที่ยวชุมชนระดับประเทศ

โครงการท่องเที่ยวชุมชน ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี ประกอบไปด้วย 4 ส่วนดังนี้

  1. อาคารศูนย์การเรียนรู้ชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี ออกแบบภายใต้แนวคิด “อยู่กับผ้า” ด้วยรูปแบบและโครงสร้างอาคารที่เรียบง่าย เปิดโล่ง และเข้ากับบริบทโดยรอบของชุมชน ใช้วัสดุไม้เป็นหลัก และเพิ่มความโดดเด่นด้วยการใช้ผ้าทอนาหมื่นศรีตกแต่งภายในอาคาร เพื่อเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้เรื่องราวของตำนานผ้าทอนับร้อยปีของชาวชุมชนนาหมื่นศรี
  2. พิพิธภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรี จัดทำภายใต้แนวคิด “สืบโยด สาวย่าน” หรือหมายถึง “การสืบสาวเรื่องราวผ้าทอ” ให้เห็นถึงคุณค่าของผ้าทอนาหมื่นศรี อันเป็นมรดกทางภูมิปัญญาท้องถิ่นมานับร้อยปี ซึ่งลายดั้งเดิมคือ ลายลูกแก้ว ลายราชวัตร ลายแก้วชิงดวง และเป็นสถานที่ที่รวบรวมลายผ้ามรดก ที่เกิดจากการสืบทอดของช่างทอในชุมชน และส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของจังหวัดตรัง เพื่อหวังสืบทอดภูมิปัญญาและอยากชวนให้คนไทยได้มาเห็นคุณค่าของผ้าทอเมืองตรัง อีกทั้งยังมีการสนับสนุนให้เยาวชนภายในชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมด้วยการเป็นมัคคุเทศก์ที่จะคอยพาชมผ้าโบราณและบอกเล่าเรื่องราวของลายผ้าต่างๆ รวมไปถึงการแต่งกายของยุคปู่ย่า-ตายาย ให้ได้เพลิดเพลินไปกับประวัติศาสตร์เรื่องของผ้าแห่งนี้
  3. ร้านค้าวิสาหกิจชุมชนนาหมื่นศรี ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าของอาคารพิพิธภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรี โดยออกแบบอาคารให้มีความเชื่อมโยงต่อเนื่องกัน โดยภายในมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ อาทิ ผ้าทอ, กระเป๋า, เสื้อ, หมวก ฯลฯ ซึ่งทางกลุ่มเซ็นทรัลได้ร่วมออกแบบ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับชุมชนนาหมื่นศรีเป็นคอลเลคชั่น ใหม่ เพื่อจัดจำหน่าย ภายใต้แบรนด์ Good Goods ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ ได้แก่ เสื้อ กางเกง และ ผ้าคลุมไหล่ อีกทั้งยังได้มีการให้ความรู้เรื่องการจัดการสต๊อก การจัดหน้าร้าน การอออกแบบผลิตภัณฑ์ บัญชี การคิดต้นทุน การขายออนไลน์
  4. จัดทำเส้นทางจักรยานท่องเที่ยวชุมชน ภายในตำบลนาหมื่นศรี และทำป้ายข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนพร้อมจัดจักรยานให้เช่าบริการแก่นักท่องเที่ยว

นอกจากการพัฒนาโมเดลการท่องเที่ยวชุมชน กลุ่มเซ็นทรัล ยังได้สนับสนุนและผลักดันด้านการศึกษาในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงส่งเสริมอาชีพคนพิการในจังหวัดตรัง ดังนี้

  • โรงเรียนในจังหวัดตรัง 19 โรงเรียนเข้าร่วมโครงการโรงเรียนประชารัฐ
  • ขับเคลื่อนการพัฒนาโรงเรียนผ่านโครงการโรงเรียนคุณธรรม และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา โดยความร่วมมือกับมูลนิธิยุวสถิรคุณ ภายใต้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
  • กลุ่มเซ็นทรัลเข้าร่วมโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership Schools) กับกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีการลงนาม MOU ร่วมกับโรงเรียน และวิทยาลัยระดับอาชีวศึกษาในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งภาคใต้ได้คัดเลือกโรงเรียนบ้านควนสวรรค์ และวิทยาลัยเทคนิคตรัง ในการทำโครงการ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของการศึกษาจากระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานไปสู่ระดับอาชีวศึกษา นอกจากนี้ มีการมอบทุนการศึกษาให้กับสถานศึกษาทั้ง 2 แห่ง จำนวนทั้งสิ้น 168 ทุน
  • ผลักดันให้โรงเรียนเข้ารับการประเมินเป็นศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้านการศึกษา โดยผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐกิจพอเพียงระดับชาติ
  • ส่งเสริมด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการพัฒนาเส้นใยผ้าให้แก่วิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี อาทิ ผ้าทอนาโน ใยผ้าจากกล้วย เป็นต้น
  • โครงการส่งเสริมอาชีพให้กับคนพิการในจังหวัดตรัง ผ่านความร่วมมือกับ สมาคมกีฬาคนพิการทางการเคลื่อนไหวและร่างกาย จังหวัดตรัง จัดตั้ง โครงการเซ็นทรัลทำ ชื่อ “โครงการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่เพื่อการจำหน่าย” รวมทั้งสิ้น 28 ครัวเรือน กระจายอยู่ใน 5 อำเภอ โดยกลุ่มเซ็นทรัลเป็นผู้ให้การสนับสนุนตั้งแต่การสร้างโรงเรือน แนวทางการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ ตลอดถึงการบริหารทางการเงินในเบื้องต้น เช่น การจัดทำบัญชีครัวเรือน ให้คนพิการสามารถที่จะมีอาชีพในการเลี้ยงดูตนเอง และครอบครัวได้อย่างยั่งยืน

ภายในงานยังได้รับเกียรติจาก คุณชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานเปิดศูนย์การเรียนรู้ชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี โดยมีคุณพิชัย จิราธิวัฒน์, คุณบุษบา จิราธิวัฒน์, คุณสุพัตรา จิราธิวัฒน์, คุณขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง, คุณกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และคุณอารอบ เรืองสังข์ ให้การต้อนรับ พร้อมด้วยคุณภัทรียา เบญจพลชัย ประธานคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน, คุณครรชิต บุนะจินดา กรรการอิสระ และคุณรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการอิสระ ร่วมเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี นอกจากนี้ยังมีการจัดโซนแสดงวิถีชีวิตสะท้อนคำนิยามของงาน “คน-ผ้า-นา-วัด” ซึ่งเป็นรากเหง้าประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของนาหมื่นศรี รวมทั้ง การสาธิตทำอาหาร-ขนมพื้นถิ่น ศิลปะวัฒนธรรมพื้นบ้านนาหมื่นศรี การแสดงมโนราห์จาก ต.โคกสะบ้า รวมถึงการนำวัวชน นกกรงหัวจุกมาโชว์เพื่อให้ผู้ร่วมงานได้สัมผัสวิถีนาหมื่นศรีที่แท้จริงอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ กลุ่มเซ็นทรัล พร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่คนรุ่นหลัง พร้อมทั้งสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นให้สามารถสร้างอาชีพให้กับชุมชนได้อย่างยั่งยืน เพื่อสร้างเศรษฐกิจระดับภูมิภาคที่เข้มแข็ง นำมาสู่การเติบโตของผลิตภัณฑ์พื้นบ้านอย่างยั่งยืน


แกลลอรี่